odf_logo-1-2

กองทุนผู้สูงอายุ

เพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

วัน: 13 พฤษภาคม 2568

พม. โดยกรมผส. ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ครั้งที่ 5/2568

พม. โดยกรมผส. ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและกู้ยืมเงินทุน
ประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ครั้งที่ 5/2568

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.30 น. นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ         เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ครั้งที่ 5/2568 ณ ห้องประชุมโป๊ยเซียน 705 ชั้น 7 กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. พร้อมการประชุมผ่านระบบ Zoom Meetings

การประชุมในครั้งนี้ มีวาระสำคัญทั้งในส่วนของการรายงานภาพรวมการดำเนินงานของกองทุน และการพิจารณากลั่นกรองโครงการที่ขอรับการสนับสนุนและกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของกองทุนผู้สูงอายุในการบริหาร “ทุนหมุนเวียน” อย่างโปร่งใส
มีระบบ และเน้นการสร้างประโยชน์ต่อผู้สูงวัยอย่างเป็นรูปธรรม

ในช่วงต้นที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลรายงานทางการเงินประจำเดือนเมษายน 2568 ความคืบหน้าผลการดำเนินงานของกองทุน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 ถึงเมษายน 2568 รวมถึงรายงานสถานการณ์หนี้คงค้างของผู้กู้ ทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม เพื่อนำไปสู่การวางแผน และกำหนดแนวทางการบริหารหนี้
ที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้ร่วมพิจารณา (ร่าง) ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน และหลักเกณฑ์การให้กู้ยืม
เงินทุนประกอบอาชีพประเภทรายบุคคล เพื่อยกระดับกระบวนการกลั่นกรองให้มีความชัดเจน และเป็นธรรมยิ่งขึ้น

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้การกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพรายบุคคล จำนวน 193 ราย และการสนับสนุนโครงการจากชมรมและองค์กรผู้สูงอายุ
จำนวน 5 โครงการ ผ่านเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรอง ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายโอกาสการพึ่งพาตนเองได้ของผู้สูงวัยทั่วประเทศ

กองทุนผู้สูงอายุยังคงมุ่งเดินหน้าในบทบาท “กลไกทางสังคม” ที่ไม่เพียงให้ความช่วยเหลือเชิงเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นแรงเสริมให้ผู้สูงวัยสามารถกลับมามีบทบาท สร้างรายได้ และใช้ชีวิตด้วยความภาคภูมิใจในวัยเกษียณอย่างแท้จริง

ทักษะใหม่ในวัยเดิม คือ โอกาสใหม่ที่เป็นไปได้

"วัยเกษียณ" จุดเริ่มต้นของ “โอกาสใหม่” ที่ต้องออกแบบให้เกิดขึ้นจริง

ในวันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เส้นทางชีวิตหลังวัย 60 ปี กลับไม่ใช่บทสุดท้ายของความสงบสุขอย่างที่หลายคน
เคยวาดฝันไว้ ผู้สูงอายุจำนวนมากยังคงต้องทำงานเพื่อเลี้ยงตัวเอง เพื่อช่วยครอบครัว หรือแม้กระทั่งเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของการมีชีวิตอย่างการ
พึ่งพาตัวเองให้ได้นานที่สุด แต่การทำงานในวัยหลังเกษียณกลับไม่ง่าย เมื่อระบบตลาดแรงงานไม่เอื้อ ความรู้เก่ากลายเป็นสิ่งล้าสมัย รายได้ไม่มั่นคง
และโอกาสในการเรียนรู้แทบไม่เปิดรับอีกต่อไป นี่ไม่ใช่ปัญหาของคนวัยเกษียณเท่านั้นหากแต่เป็น “โจทย์ของสังคมไทย” ที่ต้องเร่งตอบให้ทันก่อนที่คนรุ่นเราจะก้าวเข้าสู่วัยเดียวกันนั้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2563 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานกว่า 4 ล้านคน แต่ส่วนใหญ่กลับอยู่นอกระบบแรงงาน ซึ่งหมายถึงการไม่มีหลักประกัน ไม่มีสวัสดิการ และไม่มีรายได้ที่มั่นคงอย่างแท้จริง ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ผู้สูงอายุจำนวนมากต้องเผชิญความยากลำบาก
ในชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องรายจ่ายที่สูงขึ้น รายรับที่ไม่แน่นอน และภาระหนี้สินที่ยังไม่หมดแม้จะเข้าสู่วัยเกษียณแล้วนี่จึงไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคลอีกต่อไป แต่สะท้อนถึงความจำเป็นในการ “ออกแบบระบบใหม่” ที่สามารถพยุงผู้สูงอายุให้มีรายได้ มีทักษะใหม่ และมีชีวิตที่มั่นคงโดยไม่ต้องพึ่งพิงเพียงเบี้ยยังชีพหรือความหวังจากลูกหลาน

ทักษะใหม่ในวัยเดิม = โอกาสใหม่ที่เป็นไปได้

หากเรายังคงปล่อยให้ผู้สูงอายุเป็นเพียง ผู้รับสวัสดิการ โดยไม่มีการลงทุนในศักยภาพของพวกเขา เท่ากับเรากำลังละทิ้งทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสบการณ์อันล้ำค่าให้สูญเปล่า ในความเป็นจริง ผู้สูงวัยคือกำลังสำคัญที่สามารถ “สร้างเศรษฐกิจสีเงิน” หรือ Silver Economy ได้ หากได้รับโอกาสในการเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ข้อเสนอจากนักวิจัยระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี “แผนระดับชาติ” สำหรับการพัฒนาทักษะแรงงานผู้สูงอายุ โดยไม่มองว่าเป็นเรื่องเฉพาะกิจหรือการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่ต้องบูรณาการหน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานศึกษาเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งจัดตั้งฐานข้อมูลแรงงานสูงอายุ ระดับประเทศ และให้ทุนสนับสนุนการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออนไซต์


ยิ่งไปกว่านั้นเราควรสร้างวัฒนธรรมใหม่ของสังคมไทยที่มองเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ในช่วงวัยทำงาน แต่ตลอดจนถึงหลังเกษียณ หากคนวัย 60 – 70 ปี ยังสามารถเรียนรู้ เปิดร้านค้าออนไลน์ สอนพิเศษ หรือให้คำปรึกษาทางธุรกิจได้ นั่นย่อมหมายถึงรายได้ที่ยั่งยืน และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ลดลงตามอายุ การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ทักษะใหม่ (Reskill) หรือ ยกระดับทักษะเดิม (Upskill) คือหนึ่งในคำตอบสำคัญต่อวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น งานวิจัยของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยเสนอให้มีการจัดทำแผนระดับชาติในการพัฒนาทักษะแรงงานสูงวัย พร้อมทั้งออกแบบระบบฝึกอบรมที่ตอบโจทย์ความสามารถของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ตัวอย่างของทักษะที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย เช่น การขายของออนไลน์ การแปรรูปอาหาร งานหัตถกรรมพื้นบ้าน การดูแลเด็กหรือผู้สูงวัยด้วยกัน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพใหม่ได้จริง และไม่จำเป็นต้องใช้แรงกายมากเหมือนงานในอดีต


“กองทุนผู้สูงอายุ” ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้วว่า Reskill / Upskill สำหรับผู้สูงวัย ไม่ใช่แนวคิดในกระดาษ แต่กำลังเกิดขึ้นจริงในทุกภูมิภาคของประเทศไทยผ่านการให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ชมรม องค์กรผู้สูงอายุ และภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมชมรมฯ มีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ โดยมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ (สะสมตั้งแต่ปี 2550 – 2567) จำนวน 2,864 โครงการ สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 296,860,829 บาท แต่สำคัญที่สุดคือ การฝึกทักษะเหล่านี้ไม่ได้หยุดอยู่ที่ “ห้องเรียน” แต่เชื่อมต่อโดยตรงกับ “แหล่งทุนจริง” ผ่าน “เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย” รายบุคคล และรายกลุ่ม ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจเล็ก ๆ ได้จริง โดยไม่กลายเป็นหนี้ที่สร้างภาระในระยะยาว

กองทุนผู้สูงอายุเปลี่ยนเงินกู้ให้กลายเป็น “ทุนชีวิต”

ภายใต้ภารกิจสำคัญที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 กองทุนผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงแหล่งเงินกู้ แต่คือหนึ่งในกลไกของภาครัฐที่ทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้สูงวัยมีอาชีพ มีรายได้ และสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างยั่งยืน เงินกู้ของกองทุนมีลักษณะเป็น “ทุนหมุนเวียน” ไม่คิดอกเบี้ย และมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระคืนภายใน 3 ปี รายได้ที่คืนกลับเข้ากองทุนจะกลายเป็นโอกาสของผู้สูงวัยคนถัดไปที่รอโอกาสนี้อยู่เช่นกัน ทำให้เงินทุกบาทหมุนต่อไปได้ไม่รู้จบ

นอกจากนี้กองทุนผู้สูงอายุยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาทักษะอาชีพผ่านการให้เงินสนับสนุนชมรม/องค์กรของผู้สูงอายุ และองค์การเอกชน ที่ได้รับการรับรองเป็นองค์กรสาธารณประโยขน์ ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนผู้สูงอายุอีกด้วย เพื่อให้ผู้สูงวัยไม่ได้รับแค่ “เงินทุน” แต่ยังได้รับ “เครื่องมือ” ที่จะยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างความสำเร็จในชีวิตจริงมีอยู่ทั่วประเทศ เช่น นายวิชัย สุวรรณโชติ วัย 66 ปี ที่เคยมีรายได้จากการเลี้ยงกระบือเดือนละไม่ถึง 3,000 บาท หลังได้ทุนจากกองทุน รายได้ขยับขึ้นเกือบเท่าตัว และเริ่มมีเงินออมครั้งแรกในชีวิต นายสุวิทย์ ปัญญานันทกุล ผู้ค้าแว่นตา วัย 70 ปี หลังได้ทุนเพิ่มสินค้าและปรับร้านค้า รายได้พุ่งจาก 6,600 เป็น 15,700 บาทต่อเดือ และนายประสิทธิ สว่างศรี วัย 77 ปี ผู้ขายขนมไทยจากสูตรโบราณที่ถ่ายทอดจากแม่ รายได้ทะยานจาก 10,700 เป็น 42,700 บาทต่อเดือนในเวลาเพียงไม่กี่เดือน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่การสร้าง “รายได้” แต่คือการคืน “ศักดิ์ศรี” และ “พลังใจ” ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าพวกเขายังสำคัญ ยังมีคุณค่า และยังเป็นผู้ให้ได้แม้จะเกษียณแล้ว

ผู้สูงวัยไม่ใช่แค่คนเคยทำงาน แต่คือพลังเงียบของเศรษฐกิจ และรากฐานของสังคมที่ยั่งยืน

การสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพไม่สามารถอาศัยเพียงเบี้ยยังชีพ หรือสวัสดิการ แต่เราต้องมีความเชื่อมั่นในการลงทุนต่อศักยภาพของผู้คน ไม่ว่าจะผ่านการเรียนรู้ใหม่ การเปิดโอกาสให้ทำงาน หรือการส่งเสริมให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี เราทุกคนกำลังเดินเข้าสู่วัยเดียวกับพวกเขาในไม่ช้า
สิ่งที่เราทำวันนี้ไม่ใช่เพียงเพื่อ “ผู้สูงวัย” แต่คือการวางระบบที่เราจะได้ใช้ในวันข้างหน้าเช่นกัน

บทความโดย: นายรัฐวิทย์ บุราคม
อ้างอิง:
1. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2564) ข้อเสนอการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาทักษะการทำงาน (Reskill และ Upskill) เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ผู้สูงอายุ
2. กรมกิจการผู้สูงอายุ. (2566). รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.. 2565
3. กองทุนผู้สูงอายุ. (2567). รายงานผลการดำเนินงานประจำปี พ.. 2567
จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ 170 คน