odf_logo-1-2

กองทุนผู้สูงอายุ

เพื่อการคุ้มครอง ส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

เมื่อวัยเก๋า...กลายเป็นเรื่องของพวกเราทุกคน

ลองจินตนาการดูสักนิด…อีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า คนที่เรารักคุณพ่อคุณแม่ของเราก็จะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุ และ ที่น่าทึ่งไปกว่านั้น คือ เราทุกคนก็จะเดินทางไปถึงจุดนั้นเหมือนกัน ประเทศไทยในวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” อย่างเต็มรูปแบบซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของคนวัยเกษียณอีกต่อไป แต่มันคือเรื่องของ “ทุกคน” เพราะสังคมที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น กำลังเปลี่ยนแปลงทุกด้านของชีวิตตั้งแต่ครอบครัว ไปจนถึงเศรษฐกิจบทความนี้จึงอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “สังคมสูงวัย” ให้มากขึ้น

สังคมสูงวัยคืออะไร

“สังคมสูงวัย” คือสังคมที่มีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือมีผู้สูงอายุวัยมาก (65 ปีขึ้นไป)
มากกว่าร้อยละ 14 ในปี 2023 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกิน 13 ล้านคน และภายในเวลาอีกไม่กี่ปี จะเพิ่มเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ
พูดง่าย ๆ ก็คือ ทุก 3 คน จะมี 1 คนที่เป็นผู้สูงอายุนั่นเอง

เรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับคนรุ่นใหม่อย่างเรา

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเราอย่างแน่นอน เพราะพ่อแม่ของเรากำลังก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ การเข้าใจสภาพร่างกาย จิตใจ และความต้องการของท่าน จะช่วยให้เราดูแลได้ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ อารมณ์ หรือความมั่นคงทางการเงิน เพราะเราเองก็จะเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคตการวางแผนชีวิตตั้งแต่วันนี้
ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ การเงิน หรือความสัมพันธ์ คือลงทุนให้ตัวเองมีชีวิตที่มั่นคงและมีคุณภาพในวัย 60+ เพราะโลกของการทำงานจะเปลี่ยนไปตามโครงสร้างประชากร ธุรกิจ อาชีพ และบริการจะปรับตามความต้องการของผู้สูงวัย เกิดอาชีพใหม่ ๆ อย่างเช่น Care Manager, นักออกแบบผลิตภัณฑ์สูงวัย, นักพัฒนาชุมชนผู้สูงอายุ ฯลฯ ยิ่งเข้าใจเร็ว เราก็ยิ่งพร้อมปรับตัวและเติบโตไปกับการเปลี่ยนแปลรเปลี่ยนแปลง

เปลี่ยนมุมมอง… สังคมสูงวัยไม่ใช่เรื่องน่าเศร้า

เราอาจคุ้นกับภาพของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเงียบ ๆ อย่างโดดเดี่ยวแต่ความจริงคือ ผู้สูงวัยจำนวนมากยังมีศักยภาพ มีพลัง และมีความฝัน “คนวัยเก๋า” เหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจ และมีส่วนร่วมกับสังคมได้อย่างน่าทึ่ง สังคมสูงวัยจึงไม่ควรถูกมองว่าเป็น “ปัญหา” แต่มันคือ โอกาส ที่จะออกแบบโลกให้เหมาะกับคนทุกวัยโดยเฉพาะกับกลุ่มที่เคยดูแลเราเมื่อวันวาน

แล้วเราจะเริ่มต้นจากตรงไหนได้บ้าง

✅ เรียนรู้: หาข้อมูลเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุ การดูแลสุขภาพ หรือการวางแผนการเงินระยะยาว

✅ สื่อสารกับครอบครัว: เปิดใจคุยกันเกี่ยวกับความต้องการ ความกลัว หรือแผนชีวิต

✅ ร่วมสร้างสังคมที่เข้าใจผู้สูงวัย: ไม่มองว่าผู้สูงอายุเป็น “ภาระ” แต่เป็นทรัพยากรทางประสบการณ์

✅ ดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้: เพราะการแก่แบบมีคุณภาพ…เริ่มได้ที่เราเองในวัยนี้

เพราะสังคมสูงวัย…คือบ้านที่เราทุกคนจะเดินทางไปถึง มอง “สังคมสูงวัย” ไม่ใช่แค่เรื่องของพวกเขา แต่มันคือ “เรื่องของพวกเรา”
ที่จะต้องออกแบบ และเตรียมไว้ตั้งแต่วันนี้เพื่อให้การเดินทางสู่วันข้างหน้าของทุกคนเต็มไปด้วยความหมาย ความอบอุ่น
และคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกช่วงวัย

จำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์ 31 คน